วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนานวัตกรรม

1.       ชื่อนวัตกรรม
รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
2.       นวัตกรรมด้านใด
เป็นนวัตกรรมการศึกษาด้านสื่อการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มี
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์
3.       ความเป็นมาของนวัตกรรม
ในสถานการณ์ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี  การสื่อสาร  การคมมาคม  การรับส่งข้อมูล  และวิทยาการต่างๆ  การแพร่ขยายของวัฒนธรรมข้ามชาติ  รวมถึงการแข่งขันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจและการค้าระดับโลกในระบบการค้าเสรี  ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาในทุกๆด้าน  ซึ่งการพัฒนาประเทศนั้นควรมุ่งความสำคัญทางการศึกษาเพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพ  ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ล้วนส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในสังคมอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อม  (วรวิทย์  วสินสรากร.  2546:130)  ดังนั้นคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยควรมุ่งพัฒนา  คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์และมนุษย์ได้ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และศาสตร์อื่นๆ  คณิตศาสตร์ช่วยให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  คิดอย่างมีเหตุผล  คิดอย่างเป็นระบบและมีระเบียบแบบแผน  สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน สามารถคาดการณ์  วางแผน  ตัดสินใจ  และแก้ปัญหาได้  (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2547:1)  การจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  เป็นการศึกษาเพื่อปวงชนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เริ่มต้นการเรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตตามศักยภาพของตนเอง  เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางคณิตศาสตร์อย่างพอเพียงที่จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งเป็นพื้นฐานและเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ต่อไปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544  จึงได้กำหนดให้คณิตศาสตร์เป็นสาระหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้  โดยจัดเป็นสาระการเรียนรู้ที่โรงเรียนต้องใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานการคิดและเป็นกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาและเป็นวิกฤตของชาติ  (กรมวิชาการ. 2545: 2)  ซึ่งการที่ผู้เรียนรู้คณิตศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพนั้นจะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้มุ่งเน้นการฝึกทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์  ควบคู่ไปกับคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยม  โดยต้องยึดหลักในการจัดการเรียนการสอน  ให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้  และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546:4)  ฉะนั้น  ครูต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ  ผู้ถ่ายทอดความรู้  ไปเป็นผู้ช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อ  และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ  และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักเรียน  เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น